วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555

รหัสวิชา  PC54505                                                                          3(2-2-5)
                  วิชานวัตกรรม  เทคโนโลยีและสารสนเทศทางการศึกษา
           Innovation, Technology and Information in Education
                    สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษาและคอมพิวเตอร์ศึกษา
                                         คณะครุศาสตร์
                              มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง
                                      ภาคเรียนที่ 1/2555
                       
_________________________________________________________________
คำอธิบายรายวิชา
     ศึกษาแนวคิด ทฤษฎี นวัตกรรม เทคโนโลยีและสารสนเทศทางการศึกษา ที่ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้  การวิเคราะห์  ปัญหาที่เกิดจากการใช้นวัตกรรม  เทคโนโลยี  และสารสนเทศ  แหล่งเรียนรู้และเครือข่ายการ เรียนรู้  การสร้าง  การออกแบบ  การนำไปใช้  การประเมินผล  การปรับปรุงนวัตกรรม  สามารถเลือกใช้  ออกแบบ  สร้าง  ปรับปรุงนวัตกรรม  เทคโนโลยีและสารสนเทศสำหรับการจัดการเรียนรู้ในรายวิชาที่จะรับผิดชอบสอนในอนาคตได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับระดับการศึกษา  ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่ดี  สามารถแสวงหาแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย  และเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน

วัตถุประสงค์
    เมื่อผู้เรียนศึกษาเนื้อหาบทเรียนจบตามหลักสูตรแล้วจะมีพฤติกรรมหรือความสามารถดังนี้
    1. อธิบายความหมายของนวัตกรรม  เทคโนโลยี  และสารสนเทศได้
    2. ยกตัวอย่างนวัตกรรม  เทคโนโลยี และสารสนเทศที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้
    3. ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของนวัตกรรม  เทคโนโลยี  และสารสนเทศได้
    4. บอกถึงปัญหาที่เกิดจากการใช้นวัตกรรม  เทคโนโลยี  และสารสนเทศได้
    5. บอกความหมายและประเภทแหล่งเรียนรู้และเครือข่ายการเรียนรู้ได้
    6. อธิบายพื้นฐานการออกแบบการเรียนการสอนได้
    7. อธิบายรูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้
    8. ยกตัวอย่างรูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้
    9. อธิบายวิธีการเลือกใช้สื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสมได้
    10. เสนอแนวทางในการสร้าง  ปรับปรุงนวัตกรรม เทคโนโลยีและสารสนเทศสำหรับการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาได้อย่างน้อย 1 รายวิชา
    11. สามารถแสวงหาแหล่งการเรียนรู้และเครือข่ายการเรียนรู้เพื่อสร้างนวัตกรรมได้
    12. ยกตัวอย่างงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม เทคโนโลยีและสารสนเทศได้อย่างน้อย 3 เรื่อง

วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ความรับผิดชอบทางสังคมเชิงบรรษัท
ความรับผิดชอบทางสังคมเชิงบรรษัท หรือ ซีเอสอาร์ (อังกฤษ: corporate social responsibility: CSR) เป็นเครื่องมือที่โลกตะวันตกคิดขึ้นสำหรับใช้ควบคุมหรือถ่วงดุลลัทธิทุนนิยมสุดขั้ว มุ่งกำไรสูงสุด จนหย่อนด้านคุณธรรม จริยธรรม และความรับผิดชอบทางสังคม เป็นกลไกควบคุมธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจข้ามชาติ ให้ต้องประพฤติปฏิบัติในลักษณะที่แสดงความรับผิดชอบทางสังคมในหลากหลายมิติ
หลักการของธุรกิจกับความรับผิดชอบทางสังคม จึงอยู่บนฐานความเชื่อว่า ธุรกิจ กับสังคม จะต้องอยู่ร่วมกัน อย่างช่วยเหลือเกื้อกูลเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ช่วยกันลดจุดอ่อนต่อกัน
ความรับผิดชอบทางสังคมหลากหลายมิติ
ความรับผิดชอบทางสังคมเชิงบรรษัทมีหลากหลายด้าน ดังต่อไปนี้
1.             ด้านสิ่งแวดล้อม - ธุรกิจอาจก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมหลากหลายรูปแบบ อาจก่อมลภาวะต่ออากาศ มลภาวะทางเสียง ต่อแม่น้ำลำคลอง ต่อน้ำฝน ต่อน้ำผิวดิน เป็นต้น เช่นธุรกิจสารเคมีอาจก่อพิษภัยทั้งในลักษณะพิษที่เกิดทันทีอย่างเฉียบพลัน หรือค่อยๆ สะสมพิษร้ายทีละน้อยๆ เกิดผลกระทบแบบเรื้อรัง หรือตายผ่อนส่ง ธุรกิจที่ก่อผลร้ายเช่นนี้ต้องมีวิธีป้องกัน ไม่ให้เกิดผลร้ายอย่างได้ผล จึงจะถือว่ารับผิดชอบต่อสังคม
2.             ด้านการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ธุรกิจอาจแย่งใช้น้ำจากแหล่งน้ำเดียวกันกับชุมชน อาจใช้ทรัพยากรธรรมชาติชนิดที่ใช้แล้วหมด ธุรกิจจะต้องแสดงความรับผิดชอบต่อชุมชนโดยรอบ และต่อสังคมในภาพรวม ที่จะไม่ก่อปัญหาแบบไร้ความรับผิดชอบ
3.             ด้านความเป็นธรรมต่อเพื่อนมนุษย์ - การจ่ายค่าแรง ค่าจ้าง ค่าชดเชย ค่าดูแลสุขภาพ อย่างเป็นธรรม การจัดสถานที่ทำงานให้เป็น healthy workplace และ happy workplace การจัดให้เป็น learning organization
4.             ด้านจิตวิญญาณของผู้คน - ธุรกิจที่มุงผลกำไรสูง มองความสำเร็จที่ผลกำไร มองความสามารถคู่กับผลได้ทางวัตถุ และเงินเดือน มีแนวโน้มที่จะสร้างวัฒนธรรมวัตถุนิยมสุดขั้ว เพิ่มพูนความโลภ หย่อนด้านจิตวิญญาณ หย่อนด้านความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์
5.             ด้านความรับผิดชอบในการประกอบธุรกิจ - ทั้งในด้านความซื่อสัตย์สุจริต และรักษาผลประโยชน์ตามหลัก BSC - Balanced Score Card คือต่อผู้ถือหุ้น ต่อลูกค้าหรือคู่ค้า ต่อพนักงาน และต่อสังคมวงกว้าง
6.             สำคัญที่จิตสำนึก ที่แสดงออกทางการปฏิบัติ และมีคำอธิบาย
ธุรกิจกับความรับผิดชอบทางสังคมในมิติของความเป็นมนุษย์
มิติของความเป็นมนุษย์ คือความเคารพ เห็นคุณค่า ซึ่งกันและกัน สร้างความสัมพันธ์ในลักษณะมนุษย์สัมผัสมนุษย์ อย่างคนที่เท่าเทียมกัน เห็นอกเห็นใจกัน นี่คือสัมผัสที่ธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีภาพของความยิ่งใหญ่และทันสมัย ควรได้สร้างขึ้น ผ่านกิจกรรม ธุรกิจกับความรับผิดชอบทางสังคม (CSR)
ความซื่อสัตย์

    เชื่อว่าคนส่วนใหญ่คงจะเคยได้ยินได้ฟังนิทานเรื่อง เด็กเลี้ยงแกะ มาแล้วที่ว่าเด็กเลี้ยงแกะคนหนึ่ง ร้องตะโกนให้ชาวบ้านมาช่วย ว่าจะมีหมาป่ามากินแกะ แต่กลายเป็นว่าเด็กโกหก และหัวเราะเยาะที่หลอกคนอื่นได้ ต่อมาเมื่อมีหมาป่ามาจริงๆ ตะโกนเท่าไรก็ไม่มีใครเชื่อ เพราะคิดว่าเป็นการโกหกอีก ในที่สุดเด็กก็ต้องสูญเสียแกะไป นิทานเรื่องนี้ สอนให้รู้ว่า การโกหกเป็นสิ่งไม่ดี และคนเราจะต้องมีความซื่อทั้งการกระทำและคำพูด จึงจะเป็นที่เชื่อถือของผู้อื่น และสำนวน เด็กเลี้ยงแกะ ก็เป็นที่รู้กันต่อมาว่าหมายถึง คนที่ชอบพูดโกหกหลอกลวง หรือพูดจาเหลวไหล เชื่อไม่ได้
                ส่วนเรื่อง พันนรสิงห์ ก็เป็นเรื่องความซื่อตรงต่อหน้าที่ กล่าวคือในสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือแห่งกรุงศรีอยุธยา ได้เสด็จลงเรือพระที่นั่งเอกชัยเพื่อไปประพาสทรงเบ็ด เมื่อเรือพระที่นั่งมาถึงตำบลโคกขาม เมืองสาครบุรี ซึ่งเป็นคลองคดเคี้ยว พันท้ายนรสิงห์ นายท้ายเรือ ไม่สามารถคัดท้ายได้ทัน เรือพระที่นั่งจึงชนกิ่งไม้หักตกน้ำ ซึ่งมีโทษประหาร แต่พระเจ้าเสือ เห็นว่าเป็นเรื่องสุดวิสัย จึงพระราชทานอภัยโทษให้ ถึงสองครั้ง แต่พันท้ายนรสิงห์กลับขอให้ประหารตน ยอมตายเพื่อมิให้เสียกฏมณเทียรบาล ด้วยความกล้าหาญ และความซื่อตรงต่อหน้าที่นี้เอง ที่ทำให้ปัจจุบันยังมีศาลพันท้ายนรสิงห์อยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร บริเวณที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานให้อนุชนรุ่นหลังนึกถึงคุณงามความดีของท่าน ซึ่งแม้จะเป็นเพียงนายท้ายเรือ แต่ก็ประพฤติตนเป็นแบบอย่างแก่ลูกหลาน หากท่านรับการอภัยโทษครั้งนั้น ชื่อเสียงของท่านก็คงไม่เป็นที่กล่าวขวัญกันจนถึงทุกวันนี้
                เรื่องแรกแม้จะเป็นนิทานที่แต่งขึ้นและเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก ส่วนอีกเรื่องจะเป็นเรื่องเล่าในพงศาวดารของไทยก็ตาม แต่ทั้งสองเรื่องก็เป็นที่เล่าขานสืบต่อกันมาจนปัจจุบัน เพื่อใช้เป็นคติสอนใจคน อันแสดงให้เห็นว่าไม่ว่าชาติใด ภาษาไหน ต่างก็เห็นว่า ความซื่อสัตย์ และการไม่โกหกหลอกลวงใครเป็นคุณธรรมที่น่ายกย่องและเป็นเรื่องที่สมควรประพฤติปฏิบัติ
                ในพจนานุกรมได้ให้ความหมายของคำว่า ซื่อ ว่าหมายถึง ตรง ไม่มีเล่ห์เหลี่ยม ไม่คดโกง ส่วนคำว่า ซื่อตรง หมายถึง ความประพฤติตรง ไม่เอนเอียง ไม่คดโกง และ ซื่อสัตย์ หมายถึง ความประพฤติตรงและจริงใจ ไม่คิดคดทรยศ ไม่คดโกงและไม่หลอกหลวง หรือเราอาจจะพูดง่ายๆว่าคนที่ซื่อสัตย์ ก็คือ คนที่เป็นคนตรง ประพฤติสิ่งใดก็ด้วยน้ำใสใจจริง
                ความซื่อสัตย์นั้นมีหลายอย่าง เช่น ความซื่อสัตย์ต่อตนเอง ความซื่อสัตย์ต่อครอบครัว ความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ ความซื่อสัตย์ต่อมิตร และความซื่อสัตย์ต่อประเทศชาติ เป็นต้น
                มีพุทธภาษิตบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า สจฺเจน กิตฺตี ปปฺโปติ แปลว่า คนเราจะบรรลุถึงเกียรติได้เพราะความสัตย์ นั้นก็หมายความว่า คนที่จะมีเกียรติ ย่อมต้องเป็นคนที่มีความสัตย์ซื่อ จึงจะเป็นที่ยอมรับนับถือของคนในสังคมได้อย่างจริงใจ โดยไม่ต้องไม่เสแสร้งแกล้งทำ
                “ ความซื่อสัตย์ เป็นคุณธรรมที่จำเป็นต่อทุกสังคม ไม่ว่าจะเป็นความซื่อสัตย์ในระดับไหนก็ตาม จะต้องมีการปลูกฝังหรือสอนเยาวชนรุ่นหลังให้ประพฤติปฏิบัติ ทั้งนี้เพราะ หากคนในสังคมขาดคุณธรรมข้อนี้เมื่อใด สังคมก็จะวุ่นวาย ไม่สงบ คนจะเอารัดเอาเปรียบกัน และเห็นแก่ตัวมากขึ้น จนก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมาอีกมากมาย
                ดังตัวอย่างที่กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จะขอยกมาให้เห็น ดังนี้
                -การไม่ซื่อสัตย์ต่อตนเอง เช่น เราตั้งใจว่าจะไม่กินของหวาน ของมันเพื่อลดน้ำหนัก แต่เราก็แอบกิน แม้คนอื่นไม่ทราบ แต่เราก็รู้ตัวเราดี ผลเสีย คือ เราก็จะอ้วน และเป็นโรคอื่นตามมา หรือตั้งใจจะอ่านหนังสือ แล้วก็ไม่อ่าน เพราะมัวไปเที่ยวเล่น ดูหนัง หรือเล่นเนท ผลเสียคือ เราอาจจะสอบตก ซึ่งหากเราขาดความซื่อสัตย์ต่อตนเอง และผัดผ่อนไปเรื่อยๆ ในระยาวเราอาจจะกลายเป็นคนขาดระเบียบ ขาดความตั้งใจ กลายเป็นคนทำอะไรไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต
                -การไม่ซื่อสัตย์ต่อครอบครัว เช่น ไปมีชู้ มีกิ๊ก ติดพันนักร้องนักแสดง มีความสัมพันธ์กับคนที่มีครอบครัวแล้ว แม้จะไม่ต้องรับผิดชอบเลี้ยงดู แต่ก็จะทำให้ละเลยต่อลูกเมีย หรือสามี สร้างปัญหาในชีวิต ก่อให้เกิดความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังเป็นที่ดูถูกเหยียดหยามของผู้อื่น หากเป็นหัวหน้าไปมีสัมพันธ์กับลูกน้อง ก็จะทำให้ลูกน้องคนอื่นๆขาดความเชื่อถือ หรือหัวหน้าระดับสูงขึ้นไปไม่ให้ความไว้วางใจ เป็นต้น
                -การไม่ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่การงาน เช่น เป็นข้าราชการ ทหาร ตำรวจใช้อำนาจในทางมิชอบ กระทำทุจริต หรือแสวงหาผลประโยชน์แก่ตนเองหรือครอบครัว ก็จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนและบ้านเมืองดังที่เราจะเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน หรือหากเป็นพ่อค้าแม่ขาย ชาวสวนชาวนาไม่ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ ขายของโกงเขา หรือใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย ฯลฯ ก็จะทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท โรคภัยไข้เจ็บจากสารพิษสะสมในร่างกาย เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและผู้เกี่ยวข้องทั้งสิ้น
                -การไม่ซื่อสัตย์ต่อมิตร นอกเหนือจากญาติแล้ว เป็นธรรมดาที่คนเราต้องมีการคบหาสมาคมกับผู้อื่น เป็นมิตรต่อกัน และต้องพึ่งพาอาศัยกัน ซึ่งความเป็นมิตรนั้นจะคงทนถาวรอยู่ได้ตลอดไปก็ต้องมีความซื่อสัตย์ ไม่คิดคดทรยศต่อกัน มิตรภาพจึงจะยาวนาน หากไม่ซื่อตรงต่อกันแล้ว ก็ย่อมจะแตกความสามัคคี ทำให้เราไม่มีเพื่อน หรืออยู่ในสังคมได้ยากเพราะกลัวคนอื่นจะหักหลังเราตลอดเวลา เป็นต้น
                -การซื่อสัตย์ต่อประเทศชาติ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะหากชาติอยู่ไม่ได้ ประชาชนคนในชาติก็อยู่ไม่ได้ และหากชาติล่มสลาย ก็คือพวกเราที่จะกลายเป็นคนไร้แผ่นดิน ซึ่งคงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น
                ตัวอย่างข้างต้น คงจะทำให้เห็นแล้วว่า ความซื่อสัตย์ เป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากขาด ความซื่อสัตย์ แล้ว สังคมคงยุ่งเหยิง เกิดความหวาดระแวง ไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน เกิดความโกลาหลไปทั่ว ไม่รู้สิ่งไหนจริง สิ่งไหนเท็จ ถ้าขาดในระดับบุคคลก็จะกลายเป็นคนไม่น่าเชื่อถือและมีปัญหาอยู่ตลอดเวลา ส่วนในระดับประเทศ ก็จะไร้ซึ่งเกียรติภูมิ เป็นที่ดูถูกของชาติอื่น ซึ่งความซื่อสัตย์ที่ว่านี้ รวมไปถึงการมี สัจจะ พูดจริงทำจริง ไม่โกหกหรือพูดเหลวไหล พูดคำไหนเป็นคำนั้นด้วย คนเช่นนี้ไปที่ใด ย่อมเป็นที่เคารพนับถือว่าเป็นคนมีเกียรติ ข้อสำคัญ ถ้าทุกคนทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ย่อมจะทำให้สังคม และประเทศชาติมีความมั่นคง สงบสุข อันมีผลดีต่อประชาชนคือ ตัวเราทุกคนนั่นเอง
Raboa Chung