ความซื่อสัตย์
เชื่อว่าคนส่วนใหญ่คงจะเคยได้ยินได้ฟังนิทานเรื่อง “ เด็กเลี้ยงแกะ ” มาแล้วที่ว่าเด็กเลี้ยงแกะคนหนึ่ง ร้องตะโกนให้ชาวบ้านมาช่วย ว่าจะมีหมาป่ามากินแกะ แต่กลายเป็นว่าเด็กโกหก และหัวเราะเยาะที่หลอกคนอื่นได้ ต่อมาเมื่อมีหมาป่ามาจริงๆ ตะโกนเท่าไรก็ไม่มีใครเชื่อ เพราะคิดว่าเป็นการโกหกอีก ในที่สุดเด็กก็ต้องสูญเสียแกะไป นิทานเรื่องนี้ สอนให้รู้ว่า การโกหกเป็นสิ่งไม่ดี และคนเราจะต้องมีความซื่อทั้งการกระทำและคำพูด จึงจะเป็นที่เชื่อถือของผู้อื่น และสำนวน “ เด็กเลี้ยงแกะ ” ก็เป็นที่รู้กันต่อมาว่าหมายถึง คนที่ชอบพูดโกหกหลอกลวง หรือพูดจาเหลวไหล เชื่อไม่ได้
ส่วนเรื่อง “ พันนรสิงห์ ” ก็เป็นเรื่องความซื่อตรงต่อหน้าที่ กล่าวคือในสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือแห่งกรุงศรีอยุธยา ได้เสด็จลงเรือพระที่นั่งเอกชัยเพื่อไปประพาสทรงเบ็ด เมื่อเรือพระที่นั่งมาถึงตำบลโคกขาม เมืองสาครบุรี ซึ่งเป็นคลองคดเคี้ยว พันท้ายนรสิงห์ นายท้ายเรือ ไม่สามารถคัดท้ายได้ทัน เรือพระที่นั่งจึงชนกิ่งไม้หักตกน้ำ ซึ่งมีโทษประหาร แต่พระเจ้าเสือ เห็นว่าเป็นเรื่องสุดวิสัย จึงพระราชทานอภัยโทษให้ ถึงสองครั้ง แต่พันท้ายนรสิงห์กลับขอให้ประหารตน ยอมตายเพื่อมิให้เสียกฏมณเทียรบาล ด้วยความกล้าหาญ และความซื่อตรงต่อหน้าที่นี้เอง ที่ทำให้ปัจจุบันยังมีศาลพันท้ายนรสิงห์อยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร บริเวณที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานให้อนุชนรุ่นหลังนึกถึงคุณงามความดีของท่าน ซึ่งแม้จะเป็นเพียงนายท้ายเรือ แต่ก็ประพฤติตนเป็นแบบอย่างแก่ลูกหลาน หากท่านรับการอภัยโทษครั้งนั้น ชื่อเสียงของท่านก็คงไม่เป็นที่กล่าวขวัญกันจนถึงทุกวันนี้
เรื่องแรกแม้จะเป็นนิทานที่แต่งขึ้นและเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก ส่วนอีกเรื่องจะเป็นเรื่องเล่าในพงศาวดารของไทยก็ตาม แต่ทั้งสองเรื่องก็เป็นที่เล่าขานสืบต่อกันมาจนปัจจุบัน เพื่อใช้เป็นคติสอนใจคน อันแสดงให้เห็นว่าไม่ว่าชาติใด ภาษาไหน ต่างก็เห็นว่า ความซื่อสัตย์ และการไม่โกหกหลอกลวงใครเป็นคุณธรรมที่น่ายกย่องและเป็นเรื่องที่สมควรประพฤติปฏิบัติ
ในพจนานุกรมได้ให้ความหมายของคำว่า “ ซื่อ ” ว่าหมายถึง ตรง ไม่มีเล่ห์เหลี่ยม ไม่คดโกง ส่วนคำว่า “ ซื่อตรง ” หมายถึง ความประพฤติตรง ไม่เอนเอียง ไม่คดโกง และ “ ซื่อสัตย์ ” หมายถึง ความประพฤติตรงและจริงใจ ไม่คิดคดทรยศ ไม่คดโกงและไม่หลอกหลวง หรือเราอาจจะพูดง่ายๆว่าคนที่ซื่อสัตย์ ก็คือ คนที่เป็นคนตรง ประพฤติสิ่งใดก็ด้วยน้ำใสใจจริง
ความซื่อสัตย์นั้นมีหลายอย่าง เช่น ความซื่อสัตย์ต่อตนเอง ความซื่อสัตย์ต่อครอบครัว ความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ ความซื่อสัตย์ต่อมิตร และความซื่อสัตย์ต่อประเทศชาติ เป็นต้น
มีพุทธภาษิตบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า “ สจฺเจน กิตฺตี ปปฺโปติ ” แปลว่า “ คนเราจะบรรลุถึงเกียรติได้เพราะความสัตย์ ” นั้นก็หมายความว่า คนที่จะมีเกียรติ ย่อมต้องเป็นคนที่มีความสัตย์ซื่อ จึงจะเป็นที่ยอมรับนับถือของคนในสังคมได้อย่างจริงใจ โดยไม่ต้องไม่เสแสร้งแกล้งทำ
“ ความซื่อสัตย์ ” เป็นคุณธรรมที่จำเป็นต่อทุกสังคม ไม่ว่าจะเป็นความซื่อสัตย์ในระดับไหนก็ตาม จะต้องมีการปลูกฝังหรือสอนเยาวชนรุ่นหลังให้ประพฤติปฏิบัติ ทั้งนี้เพราะ หากคนในสังคมขาดคุณธรรมข้อนี้เมื่อใด สังคมก็จะวุ่นวาย ไม่สงบ คนจะเอารัดเอาเปรียบกัน และเห็นแก่ตัวมากขึ้น จนก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมาอีกมากมาย
ดังตัวอย่างที่กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จะขอยกมาให้เห็น ดังนี้
-การไม่ซื่อสัตย์ต่อตนเอง เช่น เราตั้งใจว่าจะไม่กินของหวาน ของมันเพื่อลดน้ำหนัก แต่เราก็แอบกิน แม้คนอื่นไม่ทราบ แต่เราก็รู้ตัวเราดี ผลเสีย คือ เราก็จะอ้วน และเป็นโรคอื่นตามมา หรือตั้งใจจะอ่านหนังสือ แล้วก็ไม่อ่าน เพราะมัวไปเที่ยวเล่น ดูหนัง หรือเล่นเนท ผลเสียคือ เราอาจจะสอบตก ซึ่งหากเราขาดความซื่อสัตย์ต่อตนเอง และผัดผ่อนไปเรื่อยๆ ในระยาวเราอาจจะกลายเป็นคนขาดระเบียบ ขาดความตั้งใจ กลายเป็นคนทำอะไรไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต
-การไม่ซื่อสัตย์ต่อครอบครัว เช่น ไปมีชู้ มีกิ๊ก ติดพันนักร้องนักแสดง มีความสัมพันธ์กับคนที่มีครอบครัวแล้ว แม้จะไม่ต้องรับผิดชอบเลี้ยงดู แต่ก็จะทำให้ละเลยต่อลูกเมีย หรือสามี สร้างปัญหาในชีวิต ก่อให้เกิดความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังเป็นที่ดูถูกเหยียดหยามของผู้อื่น หากเป็นหัวหน้าไปมีสัมพันธ์กับลูกน้อง ก็จะทำให้ลูกน้องคนอื่นๆขาดความเชื่อถือ หรือหัวหน้าระดับสูงขึ้นไปไม่ให้ความไว้วางใจ เป็นต้น
-การไม่ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่การงาน เช่น เป็นข้าราชการ ทหาร ตำรวจใช้อำนาจในทางมิชอบ กระทำทุจริต หรือแสวงหาผลประโยชน์แก่ตนเองหรือครอบครัว ก็จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนและบ้านเมืองดังที่เราจะเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน หรือหากเป็นพ่อค้าแม่ขาย ชาวสวนชาวนาไม่ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ ขายของโกงเขา หรือใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย ฯลฯ ก็จะทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท โรคภัยไข้เจ็บจากสารพิษสะสมในร่างกาย เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและผู้เกี่ยวข้องทั้งสิ้น
-การไม่ซื่อสัตย์ต่อมิตร นอกเหนือจากญาติแล้ว เป็นธรรมดาที่คนเราต้องมีการคบหาสมาคมกับผู้อื่น เป็นมิตรต่อกัน และต้องพึ่งพาอาศัยกัน ซึ่งความเป็นมิตรนั้นจะคงทนถาวรอยู่ได้ตลอดไปก็ต้องมีความซื่อสัตย์ ไม่คิดคดทรยศต่อกัน มิตรภาพจึงจะยาวนาน หากไม่ซื่อตรงต่อกันแล้ว ก็ย่อมจะแตกความสามัคคี ทำให้เราไม่มีเพื่อน หรืออยู่ในสังคมได้ยากเพราะกลัวคนอื่นจะหักหลังเราตลอดเวลา เป็นต้น
-การซื่อสัตย์ต่อประเทศชาติ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะหากชาติอยู่ไม่ได้ ประชาชนคนในชาติก็อยู่ไม่ได้ และหากชาติล่มสลาย ก็คือพวกเราที่จะกลายเป็นคนไร้แผ่นดิน ซึ่งคงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น
ตัวอย่างข้างต้น คงจะทำให้เห็นแล้วว่า “ ความซื่อสัตย์ ” เป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากขาด “ ความซื่อสัตย์ ” แล้ว สังคมคงยุ่งเหยิง เกิดความหวาดระแวง ไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน เกิดความโกลาหลไปทั่ว ไม่รู้สิ่งไหนจริง สิ่งไหนเท็จ ถ้าขาดในระดับบุคคลก็จะกลายเป็นคนไม่น่าเชื่อถือและมีปัญหาอยู่ตลอดเวลา ส่วนในระดับประเทศ ก็จะไร้ซึ่งเกียรติภูมิ เป็นที่ดูถูกของชาติอื่น ซึ่งความซื่อสัตย์ที่ว่านี้ รวมไปถึงการมี สัจจะ พูดจริงทำจริง ไม่โกหกหรือพูดเหลวไหล พูดคำไหนเป็นคำนั้นด้วย คนเช่นนี้ไปที่ใด ย่อมเป็นที่เคารพนับถือว่าเป็นคนมีเกียรติ ข้อสำคัญ ถ้าทุกคนทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ย่อมจะทำให้สังคม และประเทศชาติมีความมั่นคง สงบสุข อันมีผลดีต่อประชาชนคือ ตัวเราทุกคนนั่นเอง